เห็นรูปภาพนี้ในหนังสือนิตยสารญี่ปุ่น สงสัยเหลือเกินว่าของสิ่งนี้คืออะไรนะ น่ารักจัง
จนเวลาผ่านไป ได้รู้จักแบรนด์สินค้าผ้าฝ้ายออร์แกนิกที่ก่อตั้งโดยคนญี่ปุ่นในเมืองไทย
ชื่อ Planeta Organica
จึงได้พบผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ทำจากผ้าฝ้ายทอมือ หน้าตาคล้ายกับรูปที่เคยเห็นในหนังสือ
และได้รู้ในที่สุดว่า มันคือผ้าอนามัยที่ใช้แล้วไม่ต้องทิ้ง แต่ให้ซักแล้วนำกลับมาใช้ได้อีกนั่นเอง
ว้าว..อาจฟังดูแปลก และไม่คุ้นเคยสำหรับผู้หญิงยุคเราๆ
ที่โตมากับผ้าอนามัยแผ่นที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดีด้วยเทคโนโลยีทันสมัย
หลากหลายแบบ ทั้งมีปีก แผ่นบาง ยันล่าสุดที่เป็นคูลลิ่ง เฟรช
เย็นยันตอนใส่ให้ความรู้สึกสดชื่นที่บริเวณนั้นขณะเป็นประจำเดือน
แต่เหมือนผ้าอนามัยแบบใช้แล้วไม่ทิ้งมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เลยลองไปศึกษาวิธีใช้อย่างละเอียดจากแผ่นพับ
เราตัดสินใจหาข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อซักวันนึงจะได้ลองใช้
มีพี่ผญ.คนนั้นเล่าว่า ตัดสินใจซื้อมาลองใช้ทันที และนับจากวันนั้นก็ใช้มาโดยตลอด เป็นเวลากว่าแปดปีแล้ว
ต่อมาจึงได้พบเห็นเจ้าสิ่งนี้ในหนังสือหรือเว็บไซต์ของคนญี่ปุ่นอยู่เนืองๆ
ร้าน MUJI สาขาในประเทศญี่ปุ่นก็มีผ้าอนามัยแบบนี้จำหน่าย แต่แบรนด์ที่ขึ้นชื่อและพบได้บ่อยที่สุดก็คือ touta ที่เคยเห็นในหนังสือนั่นเอง
แบรนด์นี้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2003 มีคอนเซปต์คือทำผ้าอนามัยจากผ้าฝ้ายอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อร่างกาย
และนำเศษผ้าฝ้ายจากโรงงานที่มีลวดลายต่างๆ มาตกแต่งให้น่าใช้
เพราะตั้งใจที่จะลดขยะเศษผ้าเหลือทิ้ง
มีวางจำหน่ายในร้านขายสินค้าออร์แกนิกและแม้แต้ในเว็บไซต์ขายสินค้าชื่อดังของญี่ปุ่น Rakuten ก็มีขาย
เมื่อลองเสริชคำว่า “Sanitary Napkin” ก็พบว่าสาวๆ ตะวันตกเองก็นิยมใช้ผ้าอนามัยกันไม่น้อย
ในเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา มีทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์จากแบรนด์แนวๆ รักษ์โลก
และบทความเสนอแนะวิธีให้ทำใช้เองมากมาย
ปกติเราไม่ใช่คนที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยกรธรรมชาติขนาดที่ยึดเป็นคอนเซปต์ชีวิต แต่จะจริงจังกับบางเรื่องที่รู้สึกว่ามันรบกวนจิตใจเรา เช่น ไม่สบายใจที่จะเห็นขยะนานาชนิดถูกทิ้งปะปนกัน เพราะรู้สึกว่าระบบการแยกขยะในบ้านเราอาจจะยังไม่เข้มงวดเท่าที่ควร ขยะที่แยกได้ง่ายและนำไปขายได้นั้นไม่น่าห่วงเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆ ขยะที่ย่อยสลายได้แสนยากเย็น และไม่มีใครอยากยุ่งด้วยเลยจะนำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือขยะประเภทผ้าอนามัยและผ้าอ้อมเด็กอ่อน ซึ่งถึงไม่มีตัวเลขสถิติใดใด มายืนยันเราก็คงพอเดากันได้ไม่ยากว่า ในแต่ละวัน แต่ละเดือน ขยะประเภทนี้มีมากเพียงใด
ยอมรับว่าผ้าอนามัยแบบใช้แล้วต้องซัก ไม่สะดวกเท่าแบบใช้แล้วทิ้ง
เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายอย่าง ซึ่งเราเป็นคนค่อนข้างขี้เกียจ
และอาจจะคิดว่ามันเป็นภาระ แต่พี่คนที่เคยลองใช้เขาบอกว่า
กลับไม่เป็นปัญหามากนัก อีกทั้งการซักให้สะอาดก็ไม่ได้ยากอย่างที่จินตนาการไว้ตั้งแต่แรก
หลังจากใช้แล้ว
ต้องชำระล้างเบื้องต้นด้วยน้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง (ห้ามใช้น้ำอุ่นหรือน้ำร้อน เพราะคราบจะติดฝั่งแน่น)
จากนั้นนำไปแช่น้ำผสมเบกกิงโซดาทิ้งไว้จนกว่า “ช่วงวันนั้นของเดือน” จะสิ้นสุด
ระหว่างนั้นก็คอยเปลี่ยนน้ำที่แช่ทุกวัน เมื่อนำมาซักจะพบว่าผ้าสะอาดได้ง่าย
มีเคล็ดลับนิดหน่อยในการใช้งานคือ ไม่ควรปล่อยให้คราบแห้งเพราะจะทำความสะอาดยาก
การเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ช่วยได้ หากต้องออกไปข้างนอก อาจจะพบชุดคิตสำหรับวันนั้นของเดือนติดตัวไว้
ประกอบด้วย ขวดสเปรย์เล็กๆ ใส่น้ำเปล่า ถุงซิปล็อก ผ้าอนามัยสำหรับเปลี่ยนระหว่างวัน
ใส่ทั้งหมดลงในถุงผ้าน่ารัก เราจะเก็บผ้าอนามัยที่ใช้แล้วในถุงซิปล็อก แล้วฉีดน้ำให้ชุ่มๆ ไว้
เพื่อให้ซักคราบออกได้ง่าย
ในเว็บไซต์ต่างๆ บอกข้อดีของผ้าอนามัยผ้าไว้มากมาย
นอกจากจะช่วยลดการระคายเคืองจากผ้าอนามัยสังเคราะห์ ประหยัด ลดขยะ ทำใช้ได้เอง และเป็นทางเลือกยามเกิดภัยวิบัติ
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือผ้าอนามัยฝ้ายนุ่มๆ นี้จะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายของเรา ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี
ลดอาการไม่สบายตัวและคลายกล้ามเนื้อ
ไม่อยากจะโฆษณาชวนเชื่อหรือรับประกันความพึงพอใจใดใด แค่อยากมาเล่าไว้เผื่อเป็นทางเลือก
เพื่อให้รู้ว่า ของแบบนี้ก็มีด้วยนะ
แต่ถ้าใครสนใจ แล้วหันมาลองใช้กันเยอะๆ ก็คงจะดีไม่น้อยเลยน้าาา
Be First to Comment